ทุ่มงบฯ1,000ล้านยกระดับแม่พิมพ์
11 กย. 57
71644
อุตฯแม่พิมพ์รับงบฯกว่า 1,000 ล้านบาท ดันโครงการพัฒนาบุคลากรเฟส 2 รอบ 5 ปี คาดปี"53 ดันส่งออกถึง 10,000 ล้านบาท ระบุอานิสงส์ "อีโคคาร์" เพิ่มการใช้แม่พิมพ์ แถมข้อตกลงอาฟตา หลายประเทศใช้ไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกสินค้า ก.อุตสาหกรรมจัดงบฯ 1,100 ล้านบาทให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ดำเนินโครงการยกระดับอุตสาหกรรมระยะ 2 (2553-2557) หวังต่อยอดโครงการระยะแรกในการพัฒนาบุคลากรไทยให้สามารถผลิตแม่พิมพ์ลดการนำ เข้า เชื่อโครงการอีโคคาร์จะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าโครงการยกระดับความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยนายปราโมทย์ วิทยาสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานโครงการ กล่าวว่า หลังจากที่โครงการผ่านการดำเนินการระยะแรก (2547-2552) ไปแล้ว ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการโครงการต่อเนื่องระยะ 2 (ปี 2553-2557) อีกจำนวน 1,100 ล้านบาท
โดยโครงการระยะ 2 จะเน้นต่อยอดจากโครงการระยะแรกใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในเชิงของเทคโนโลยีให้มีศักยภาพในการออกแบบ และผลิตแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและเที่ยงตรงสูง 2) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อสนับสนุนไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ 3) สร้างยุทธศาสตร์ในการเกื้อหนุนอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
"อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อภาคการผลิต เนื่องจากสินค้าทุกอย่างที่ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า-ชิ้นส่วนยานยนต์-บรรจุภัณฑ์ ต้องใช้เครื่องจักรและแม่พิมพ์เป็นตัวผลิต ซึ่งในอดีตบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในประเทศไทยเกี่ยวกับแม่พิมพ์ยัง น้อย ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงช่วยให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านนี้มากขึ้น" นายปราโมทย์กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย กล่าวว่า ภายหลังจากมีโครงการพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ คนไทยสามารถผลิตแม่พิมพ์เองได้มากขึ้น จากตัวเลขการนำเข้าแม่พิมพ์ปี 2547 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10-20% จนมูลค่านำเข้าสูงสุดที่ 27,000 ล้านบาท แต่หลังการดำเนินโครงการ มูลค่านำเข้าแม่พิมพ์เริ่มลงลดเหลือ 21,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีโครงการนี้ คาดว่ามูลค่านำเข้าจะสูงไปถึง 35,000 ล้านบาท
โครงการดังกล่าว นอกจากจะทดแทนการนำเข้าแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากขึ้น จากในอดีต อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยส่งออกประมาณ 2,000 ล้านบาท จนถึงปี 2552 มูลค่าส่งออกปรับเพิ่มขึ้น เป็น 9,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2553 มูลค่าการส่งออกน่าจะเพิ่มถึง 10,000 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลทำให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เติบโตมาก ขึ้น ก็คือนโยบายสนับสนุนโครงการผลิตรถยนต์นั่งประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ ที่มีค่ายรถยนต์ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่ง เสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 6 ค่าย ถ้าหากเป็นไปตามแผนการผลิตของทั้ง 6 ค่าย จะมีผลให้มีการใช้แม่พิมพ์เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับผลิตรถยนต์อีโคคาร์มาก ขึ้น
"ถ้าหาก 6 ค่ายรถยนต์ดำเนินการผลิตรถอีโคคาร์ได้ตามแผน คาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะเพิ่มมากขึ้น การ นำเข้าแม่พิมพ์ในส่วนที่คนไทยยังผลิตไม่ได้ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมกับมูลค่าการใช้แม่พิมพ์ที่คนไทยสามารถผลิตได้เองอีก ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรม" นายวิโรจน์กล่าว
นอกจากโครงการอีโคคาร์แล้ว ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ประเทศไทยทำกับญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ก็จะส่งอานิสงส์ให้กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต มีบุคลากรที่มีความชำนาญ หลายประเทศก็อยากจะเข้ามาลงทุน เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ส่งออกไปยังประเทศที่ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี การถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่ประเทศไทยก็จะมีมากขึ้น
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=7571